6 กลุ่มโรค NCDs หากติด COVID-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง พร้อมแนวทางการป้องกันให้ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs

 6 กลุ่มโรค NCDs หากติด COVID-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง พร้อมแนวทางการป้องกันให้ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs
วันที่ 31 ม.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 6,671 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

6 กลุ่มโรค NCDs หากติด COVID-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs หมายถึง กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ หรือจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือผ่านตัวนำโรค (พาหะ) แต่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย และส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง

รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ 

(snapping fingers)วันนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ มีแนวทางการป้องกันให้ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs มาฝากทุกท่านจ้า 
จะมีแนวทางป้องกันอะไรบ้างไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย...

1. โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โรคนี้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และกระหายน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดมากกว่าปกติ และปลายมือปลายเท้าชา หากเบาหวานขึ้นตา อาจเกิดการมองเห็นที่พร่ามัว
โรคเบาหวาน ป้องกันได้โดยการควบคุมพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวานต่าง ๆ โดยให้ลดปริมาณการรับประทานลง หรือลดปริมาณน้ำตาลลง อาจออกกำลังกายร่วมด้วยเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

2. โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันปกติควรน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ อายุมากกว่า 35 ปี มีพ่อหรือแม่ พี่หรือน้อง เป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน ภาวะเครียดเรื้อรัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
การป้องกันความดันโลหิตสูง ควรลดน้ำหนัก ลดปริมาณเกลือในอาหาร งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรู้จักปล่อยวาง ไม่เครียด

3. โรคหลอดเลือดสมอง หรือเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย อาจเป็นสาเหตุของความพิการ หรือเสียชีวิตได้ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ เป็นต้น
วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

4. โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอับดับต้น ๆ ของประเทศไทยส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
สาเหตุส่วนใหญ่ของการป่วยด้วยโรคหัวใจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมเสี่ยงส่งผลมากที่สุดคือ “การสูบบุหรี่” เพราะสารพิษกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ จะขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนน้อยไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งสารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในบุหรี่ จะเพิ่มความหนืดของเกล็ดเลือดและทำให้เกิดลิ่มเลือด เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ มีภาวะความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย ไม่รับประทานผักและผลไม้ และมีความเครียดสะสม
การป้องกันโรคหัวใจ ทำได้โดย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารและขนมที่มี เนย ชีส ครีม รวมถึงเค้ก เบเกอรี่ เป็นต้น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้น้ำตาลน้อย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและงดสูบบุหรี่

5.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีทางเดินหายใจภายในปอดอุดกั้นอย่างช้า ๆ การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในหลอดลมหรือในเนื้อปอดอักเสบทำให้หลอดลมตีบแคบลงหรือตันไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ โรคนี้ประกอบด้วย 2 โรค ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ โรคถุงลมโป่งพอง
สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่มีสารเคมีมากมาย เมื่อปอดสัมผัสกับควันบุหรี่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในปอดได้
ป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยการไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษต่าง ๆ

6.คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดราว 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 5 แสนคน โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไตทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง
วิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่รวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ไม่เครียด ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และตรวจสุขภาพประจำปี

การป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา สสส. รณรงค์ให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลี่ยง หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดปัจจัยเสี่ยงอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่
นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และสแกนไทยชนะ นอกจากจะช่วยป้องกัน COVID-19 แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ อีกด้วย
สามารถติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด

คลังภาพ