หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 6,623 ครั้ง | โดย วิชนี ดอกบัว

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ

 

" ELDERLY BEDROOM DESIGN "

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุกำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในยุคที่เมืองไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุที่ปลอดภัย และมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม จะมีองค์ประกอบที่สำคัญ และมีความน่าสนใจอะไรบ้างนั้นตามมาชมกันเลยครับ

 

 

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ภาพประกอบ

 

เตียงนอน

ควรเป็นเตียงที่มีรูปแบบฟูกยื่นออกมานอกโครงสร้างเตียง เพราะฟูกเป็นวัสดุที่นุ่มไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยช่วยในเรื่องการลดเหลี่ยมคมจากวัสดุที่มีความแข็ง และมีเหลี่ยมคมที่เป็นอันตราย เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในกรณีที่เสียหลักหกล้มไปโดนโครงเตียงที่เป็นวัสดุแข็งอย่างเหล็ก หรือ ไม้ เป็นต้น

ขนาดความยาวของเตียงที่เหมาะสม

- ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 200 เซนติเมตร

ขนาดความกว้างที่เหมาะสม

- แบบเตียงเดี่ยว 100 เซนติเมตร

- แบบเตียงคู่ขนาดความกว้างที่เหมาะสม คือ 180-200 เซนติเมตร 

ระดับความสูงของเตียง

- ความสูงที่เหมาะสม คือ 40 - 50 เซนติเมตร (สูงเท่าระดับพื้นที่ข้อพับเข่า)

และสิ่งที่จำเป็นอีกข้อหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ การเว้นระยะให้มีพื้นที่ว่างโดยรอบเตียงอย่างน้อยสามด้าน สำหรับรถเข็น การกลับตัวที่ต้องใช้พื้นที่ หรือ พื้นที่รองรับเมื่อเกิดการเสียการทรงตัว ซึ่งจะต้องมีความกว้างด้านละ 90 - 120 เซนติเมตร  และหัวเตียงควรมีโทรศัพท์ และสัญญาณฉุกเฉิน

 

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ภาพประกอบ

 

ตู้เสื้อผ้า

ควรเป็นตู้เสื้อผ้าแบบบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดได้ง่ายไม่จนฝืดเกินไป ซึ่งเป็นรูปแบบการเปิดที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับกำลังแขนของผู้สูงอายุมากที่สุด โดยตำแหน่งความสูงของราวแขวนจะต้องอยู่ในระดับที่ผู้สูงอายุสามารถเอื้อมถึงได้ ซึ่งระดับความสูงเฉลี่ยที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 150 - 170 เซนติเมตร และควรเว้นระยะให้มีพื้นที่ว่างด้านหน้าตู้ อย่างน้อย 120 เซนติเมตร เพื่อให้เป็นพื้นที่การลองเสื้อผ้า การกลับตัว และรัศมีของรถเข็น 

ขนาดความสูงของตู้ที่เหมาะสม

- ควรสูงไม่เกิน 200 เซนติเมตร เพราะถ้าหากสูงมากกว่านี้ผู้สูงอายุอาจเขย่งเอื้อมมือไปหยิบได้ยาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการเสียการทรงตัวได้ และยังเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากกรณีตู้ล้มอีกด้วย

 

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ภาพประกอบ

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ภาพประกอบ

 

โต๊ะเครื่องแป้ง 

ในกรณีของโต๊ะเครื่องแป้งที่มีกระจกเงา ถือเป็นข้อดีอีกอย่างเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ส่องตนเอง ซึ่งเป็นการกระตุ้นการรับรู้สภาพปัจจุบันอีกวิธีหนึ่ง โดยขนาดของช่องเก้าอี้ควรมีความสูงอย่างน้อย 65-80 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นสามารถเลื่อนเข้า เลื่อนออกได้อย่างสะดวก โดยที่ผู้สูงอายุไม่ต้องลงจากรถเข็นพร่ำเพรื่อเพื่อเปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสะดุด หรือ เสียการทรงตัวได้

 

หลักการออกแบบห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ภาพประกอบ

 

ประตูห้องแบบบานเลื่อน

ประตูบานเลื่อนเป็นประตูที่สามารถเปิดปิดได้ง่าย ประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน มีความเหมาะสมกับกำลังแขนของผู้สูงอายุ ซึ่งควรเลือกใช้ประตูบานเลื่อนแบบรางเรียบ หรือ ไม่มีรางที่พื้นเลยก็จะยิ่งปลอดภัย ซึ่งทำให้สะดวกต่อการเดินโดยไม่ทำให้สะดุดล้ม หรือ เจ็บฝ่าเท้า และจะต้องมีขนาดบานเลื่อนที่กว้างพอสำหรับให้รถเข็นผ่านได้ โดยความกว้างที่เหมาะสม คือตั้งแต่ 180 เซนติเมตรขึ้นไป

ประตูห้องแบบบานเปิดทั่วไป

ในกรณีที่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ประตูบานเลื่อน ควรใช้ลูกบิดประตูแบบก้านโยก เพื่อให้ง่ายต่อการเปิดปิด โดยไม่ต้องอาศัยแรงมาก และต้องมีความกว้างประตู ตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไป

วัสดุปูพื้น

ควรเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นเพราะสามารถช่วยลดแรงกระแทกจากการหกล้มได้ดี รวมถึงสามารถดูดซับเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคุณสมบัติที่ช่วยรักษาอุณหภูมิภายในตัววัสดุให้มีความอบอุ่นคงที่อยู่ตลอดเวลา และไม่ปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เช่น พื้นไม้คอร์ก หรือ พื้นยางสังเคราะห์ที่ผลิตแบบพิเศษปลอดสารพิษ

 

 

 

แปล และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- Architect Data

อ้างอิง https://www.wazzadu.com/article/2158