ปลัด พม. พร้อมด้วยอผส. ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ช่วยครอบครัวกลุ่มเปราะบางย้ายเข้าบ้านใหม่ที่เคหะรามอินทรา (ซอยคู้บอน 27) พร้อมใช้ “สมุดพกครอบครัว” ช่วยแก้ปัญหาความยากจน

ปลัด พม. พร้อมด้วยอผส. ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ช่วยครอบครัวกลุ่มเปราะบางย้ายเข้าบ้านใหม่ที่เคหะรามอินทรา (ซอยคู้บอน 27) พร้อมใช้ “สมุดพกครอบครัว” ช่วยแก้ปัญหาความยากจน
วันที่ 7 APR 2021 | ผู้เข้าชม 1,872 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

ปลัด พม. พร้อมด้วยอผส. ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ช่วยครอบครัวกลุ่มเปราะบางย้ายเข้าบ้านใหม่ที่เคหะรามอินทรา (ซอยคู้บอน 27) พร้อมใช้ “สมุดพกครอบครัว” ช่วยแก้ปัญหาความยากจน

 

 

       วันนี้ (7 เม.ย. 64) เวลา 10.15 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วยนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ลงพื้นที่บูรณาการร่วมกันให้ความช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคม จำนวน 1 ครอบครัว ที่มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ว่างงาน ภายในซอยคู้บอน 30 ถนนรามอินทรา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ มีการช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางดังกล่าวย้ายไปยังที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ณ เคหะรามอินทรา (ซอยคู้บอน 27) แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ

 

        โดยในวันนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคม ประกอบด้วย ชายอายุ 75 ปี พิการขาขวา ต้องใส่ขาเทียม อาศัยอยู่กับภรรยาอายุ 79 ปี ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ไม่สามารถเดินได้ ลูกชายอายุ 46 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพ เนื่องจากต้องอยู่แลบิดา-มารดาอย่างใกล้ชิด ลูกสะใภ้อายุ 50 ปี ประกอบอาชีพหารายได้จุนเจือครอบครัวเพียงคนเดียว และหลานสาวอายุ 9 ปี วัยกำลังเรียน ซึ่งทั้ง 5 ชีวิต อาศัยในบ้านร้างสภาพเก่าทรุดโทรม ทั้งนี้ ได้บูรณาการความช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะสั้น ได้แก่ 1) การให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย โดยจัดให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในโครงการของเคหะรามอินทรา (ซอยคู้บอน 27) 2) การช่วยเหลือด้านเงินสงเคราะห์และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 3) มอบทุนการศึกษาแก่เด็ก และ 4) การดูแลรักษาสุขภาพและโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ  2. ระยะกลาง ได้แก่ 1) การจัดการเรื่องทะเบียนบ้าน เพื่อให้สามารถขอรับสิทธิและสวัสดิการของรัฐ 2) การจัดหาอาชีพสำหรับบุตรชายที่ว่างงาน โดยการรับงานมาทำที่บ้าน และจัดหาอาชีพเสริมสำหรับลูกสะใภ้ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้จุนเจือครอบครัว และ 3) การให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพ และการรักษาพยาบาลอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

3.ระยะยาว ได้แก่ 1) ประสาน อพม. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้การช่วยเหลือและติดตามครอบครัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ 2) การให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาของเด็ก เพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการของเด็กตามความเหมาะสม 3) ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข (ศูนย์ 24 บางเขน) เพื่อติดตามให้บริการด้านสุขภาพและอาการป่วยของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง และ 4) การช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาชีพของครอบครัวในระยะยาว

 

     นอกจากนี้ ได้มอบ “สมุดพกครอบครัว” ให้แก่ครอบครัวดังกล่าว ตามนโยบายของรัฐบาล “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการบูรณาการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2563 ได้มีการนำร่องใช้สมุดพกครอบครัวใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

คลังภาพ