วางแผนการเงินหลังเกษียณ ให้มีใช้ ไม่ขัดสน

วางแผนการเงินหลังเกษียณ ให้มีใช้ ไม่ขัดสน
วันที่ 31 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 11,234 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันนี้ถือว่าจำนวนผู้สูงอายุนั้น เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปหรืออยู่ในวัยเกษียณ จะเพิ่มจำนวนเป็น 10 ล้านคน ซึ่งหากผู้สูงอายุเหล่านี้ มีเงินบำเหน็จบำนาญหรือมีสวัสดิการเพียงพอรองรับชีวิตหลังเกษียณอายุได้ ก็คงไม่เกิดปัญหาเท่าใดนัก เพราะหากไม่ใช่ข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินแล้ว มีผลตอบแทนให้หลังจากเกษียณอายุแล้ว ผู้สูงอายุเหล่านี้จะลำบากไม่น้อย เนื่องจากประชากรโดยส่วนใหญ่ ยังมีอาชีพอิสระ หรือหาเช้ากินค่ำ การเก็บออมเงินไว้ใช้เมื่อคราวแก่ชรา ด้วยการฝากเงินกับกองทุนต่าง ๆ หรือการเก็บออมเงินไว้เอง ก็คงทำได้ยาก

ทางภาครัฐก็ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีโครงการเพื่อเก็บเงินออมสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุหลายโครงการด้วยกัน ซึ่งจะดีไม่น้อยหากประชาชนให้ความสนใจหรือกระตือรือร้นในการเก็บออมเงินในรุปแบบต่าง ๆ หรือเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล แต่ก็จะมีอีกบางส่วน ที่อาจไม่ทราบข่าวสารหรือไม่รู้วิธีเก็บออมเงิน จึงทำให้บั้นปลายชีวิตเกิดความลำบากขัดสน หรือบางคนก็ต้องทำงานหนักตราบจนสิ้นลมหายใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู หรือมีลูกหลานแต่ก็ถูกทอดทิ้ง ฉะนั้นแม้ว่าจะมีครอบครัวหรือไม่มีก็ตาม ควรต้องเตรียมพร้อม วางแผนการเงินหลังเกษียณ อยู่เสมอ ๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับตนเองตอนแก่ชรา และไม่เป็นภาระของลูกหลาน

การวางแผนการเงินตั้งแต่บัดนี้ 

การวางแผนทางการเงิน ต้องทำก่อนวัยเกษียณ ไม่ใช่เกษียณแล้วจึงมาเริ่มทำ เพราะอาจจะทำให้สายเกินไป ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยกลางคนหรือวัยทำงานขณะที่ยังเป็นหนุ่มสาวก็ตาม คือ การเก็บออมเงิน ไม่ว่าจะฝากประจำ หรือทำประกันเงินออมระยะยาวประมาณ 20 ปีขึ้นไป หรือเลือกทำประกันเงินออมตามแผนที่ทางธนาคารต่าง ๆ มีให้เลือก เช่น เงินออมหลังเกษียณ ที่มีไว้บริการ ก็จะทำให้เกิดการเก็บออมเงินในระยะยาว ซึ่งอย่าไปคิดว่า อีกตั้งหลายสิบปีกว่าจะได้เงินคืน แต่ถ้าคิดยาว ๆ ไว้ว่า หากเราเป็นพนักงานบริษัททั่วไป หรือประกอบอาชีพอิสระ แล้วในอนาคตที่ไม่แน่นอนนั้น เราอาจไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกหลาน แล้วใครจะมาดูแล หากไม่ใช่ตัวเราเองฉะนั้นไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงทิ้งนั้น การเก็บเงินระยะยาวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้เกิดความสบายใจได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพอิสระ ทางรัฐบาลก็มีหลายทางโครงการที่ออกมารองรับให้มีการเก็บออมเงิน เพื่อให้มีเงินก้อนหลังอายุ 60 ปี หากใครที่อยากจะออมเงินธรรมดา ๆ โดยไม่ต้องทำโครงการอะไรก็สามารถทำได้ ไม่ว่าคุณจะหยอดกระปุกออมสิน จะนำเงินฝากธนาคารจากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปก็ดี แต่มีข้อแม้ว่า ให้แยกบัญชีเก็บออกจากบัญชีปกติ แล้วห้ามทำบัตรเอทีเอ็ม ทำให้ถอนเงินได้ง่าย

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนต่าง ๆ ก็ดี หรือจากธนาคารที่ตนฝากไว้นั้นจะมีใช้ได้ตลอดไป เพราะหากตราบใดที่จำนวนเงินไม่งอกเงย แล้วมีแต่ใช้ไปเรื่อย ๆ ก็จะหมด ฉะนั้นควรจะทำบัญชีรายจับรายจ่ายให้ละเอียด ว่าในแต่ละเดือนต้องใช้อะไรบ้างที่จำเป็น เผื่อค่ากิน ค่าอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล หากใครที่ทำประกันสุขภาพไว้ก็ไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ถ้าใครที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกัน การใช้ระบบประกันสุขภาพของรัฐก็เป็นอีกหนทางหนึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ทว่า การเก็บเงินไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลเผื่อฉุกเฉิน หรือขาดเหลืออะไร ก็จะได้ไม่เกิดปัญหาทีหลัง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู

แบ่งเงินก้อนจำนวนหนึ่งลงทุนที่ให้ผลกำไรแน่นอน หลังเกษียณอายุแล้ว อาจจะแบ่งเงินบางส่วนที่ตนฝากไว้ก่อนหน้านี้ มาฝากในลักษณะของกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หรือ การซื้อสลากออมสิน สลาก ธกส. ก็ทำให้ต่อยอดดอกผลได้ หรือใครที่มีประกันเงินออมแล้วจะฝากต่อไป ก็ได้เช่นกัน เพราะในกรณีที่มีลูกหลานแล้วอยากจะเก็บไว้ให้ เมื่อตนเสียชีวิตไป ก็สามารถทำได้ ซึ่งจะมีหลากหลายโครงการ หลายรูปแบบ หากใครที่ชอบเล่นหุ้น อาจจะยั้ง ๆ ใจไว้หน่อยเพราะความเสี่ยงสูง ฉะนั้นเงินจำนวนนี้จึงควรลงทุนกับเงินออมที่ให้ดอกผลแน่นอน หรือเงินปันผลที่ชัดเจน

ทำอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเกษียณอายุ หลายคนก็ไม่อยากอยู่เฉย ๆ อยากจะทำอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการประกอบอาชีพ ก็เป็นการต่อยอดให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ควรศึกษาให้ดี และไม่ควรจะลงทุนกับการประกอบการที่เสี่ยงมาก ๆ เพราะมีสิทธิ์ขาดทุนสูง อาจจะทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแก้เหงาหรือคลายเครียดจะดีกว่า แล้วเก็บออมเงินไว้ เช่น อาจจะทำขนมขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้กำไรนิดหน่อย แต่ต้องไม่ขาดทุน

ใช้เงินเท่าที่จำเป็นมากที่สุด เช่น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป พวกของฟุ่มเฟือย เช่น พวกเหล้า บุหรี่ หากใครยังที่เลิกไม่ได้ก็ควรเลิก เนื่องจากของเหล่านี้นอกจากจะทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้วยังทำลายสุขภาพอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่า อายุที่มากขึ้น ย่อมทำให้ร่างกายเจ็บป่วยมากขึ้น หากไม่รักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วจะต้องนำเงินมาใช้จ่ายกับการรักษาโรคภัยเจ็บ

ก่อนจะเกษียณอายุต้องเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือภาระอื่น ๆ เพราะต้องระลึกอยู่เสมอว่า หลังเกษียณไปแล้ว ตนเองจะทำงานได้น้อยลง เพราะร่างกายไม่เป็นใจ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ดังนั้น ควรจะสะสางหนี้สินต่าง ๆ ให้หมด หรือถ้าใครที่คิดจะนำเงินก้อนหลังเกษียณอายุมาใช้หนี้สินต่าง ๆ ก็ควรคำนวณดูว่า เมื่อใช้หนี้แล้วจะเหลือเงินเท่าไหร่ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ แต่ในทางที่ดีเคลียร์ปัญหาหนี้สินให้หมดก่อนอายุ 60 ปีจะดีที่สุด

ที่มา : https://moneyhub.in.th/article/money-plan-after-retirement/