รู้ไว้ใช่ว่า...วางแผนรับมือปัญหาสุขภาพของ “ผู้สูงอายุ”

รู้ไว้ใช่ว่า...วางแผนรับมือปัญหาสุขภาพของ “ผู้สูงอายุ”
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,085 ครั้ง | โดย กพร.

รู้ไว้ใช่ว่า...วางแผนรับมือปัญหาสุขภาพของ “ผู้สูงอายุ”

    เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ประสิทธิภาพของระบบการทำงานและอวัยวะต่างๆในร่างกายก็จะถดถอยลง โดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุ” จะแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีปัญหาสุขภาพและปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตใจแวะเวียนเข้ามาหาบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ
TOP 5 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั้งชาย และหญิง

โรคที่พบในผู้สูงอายุเพศชาย

โรคที่พบในผู้สูงอายุเพศหญิง

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็งตับ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ต้อกระจก
  • โรคสมองเสื่อม

 

    จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูง และไม่ได้เจ็บป่วย ด้วยโรคใดเพียงโรคเดียว ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว อย่างน้อย 1 โรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไรยิ่งมีปัญหาสุขภาพมากขึ้นตามอายุด้วย และ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยสูงอายุจะมีความพิเศษกว่าการดูแลผู้ป่วยวัยอื่น
รับมือ 6 อาการที่เป็นปัญหาเฉพาะพบบ่อยในผู้สูงอายุ
1. อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ : เนื่องจากเซลล์สมองน้อยลง และขาดประสิทธิภาพเพราะเลือดไหลในเวียนสมองน้อยลง ประกอบกับภาวะขาดอาหาร และวิตามินบางชนิด ผู้สูงอายุจึงมีภาวะความจำเสื่อม หลงลืม มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ หรือหากมีปัญหาสุขภาพที่เฉียบพลัน เช่น การอักเสบติดเชื้อ หัวใจหรือสมองขาดเลือด ก็อาจเกิดอาการเพ้อ งุนงง สับสนได้ง่ายขึ้น ผู้ดูแล หรือคนใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตว่าผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มมีอาการหลงหรือลืมทิศทาง พูดซ้ำถามซ้ำ หรือไม่ หากมีควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและรับการรักษา
    ถึงแม้ว่าภาวะความจำเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ยังสามารถช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคได้ อาทิ การทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นสมอง เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม รวมกิจกรรมกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือกิจกรรมกับสังคมเป็นต้น

2. ภาวะซึมเศร้า เก็บตัว พูดน้อย : เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางกาย และขาดความเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่สดชื่น บางรายอาจรู้สึกผิด รู้สึกเป็นภาระ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย การดูแลทำได้ด้วยการให้ความรัก ความเอาใจใส่ พูดคุย กอด หรือสัมผัสผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรตรวจเช็คว่าผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยอื่นร่วมหรือไม่ เช่นอาการปวดต่างๆ กรดไหลย้อน ปัญหาการหายใจหรือโรคนอนกรน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผลข้างเคียงจากยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ มีภาวะซึมเศร้า เครียด หรือวิตกกังวลได้
3. ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม : เป็นปัญหาที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีกระดูกบางพรุนอยู่แล้ว เมื่อหกล้มก็อาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายโดยเฉพาะเพศหญิง อัตราการหกล้มสูงถึง 30% ซึ่งสาเหตุทำให้เกิดการหกล้ม เช่น เลือดไหลเวียนสมองน้อยลง หัวใจขาดเลือด ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น พื้นที่ลาดเอียงหรือลื่นเปียก
    การล้มเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะทุพพลภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุและอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ วิธีป้องกันทำได้โดยปรับสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มไฟสว่าง พื้นกันลื่น มีราวจับ ตรวจมวลกระดูกเพื่อประเมินหาโรคกระดูกพรุนและรับการรักษาตามความเหมาะสม รวมถึง ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว

4. อาการกลั้นปัสสาวะ หรือการขับถ่ายไม่ได้ : ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในเรื่องของการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะฝ่อ และอักเสบ ภาวะท้องผูก ต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน และความบกพร่องในการควบคุมการกลั้นการขับถ่ายที่เกิดจากสมองหรือเส้นประสาท การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยารักษาความดันบางชนิด ยาขับปัสสาวะเองทำให้ปัสสาวะมากก็อาจทำให้ปัสสาวะไม่ทันได้
    วิธีรับมืออันดับแรก คือ ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แก้ไข หลังจากนั้นถึงค่อยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เช่นการออกกำลังกาย ฝึกการกลั้นปัสสาวะโดยปัสสาวะเป็นเวลาและค่อยๆ ยืดเวลาระหว่างการปัสสาวะ เพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้มากขึ้น เป็นต้น
5. ปัญหาการมองเห็น : ปัญหาการมองเห็นที่ลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ และเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมของ จอประสาทตาเสื่อม ตามอายุ รวมถึงความเสื่อมถอยก่อนวัยอันควรจากโรคที่ผู้สูงอายุบางรายต้องเผชิญ เช่น โรคเบาหวาน ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น การป้องกันและการดูแลสามารถทำได้ด้วยการตรวจคัดกรองดวงตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งหากพบความผิดปกติในระยะแรกๆ และทำการรักษาจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. ปัญหาการได้ยิน : เรามักจะรู้กันอยู่แล้ว ผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการรับเสียงที่ลดลง จำเป็นต้องพูดคุยด้วยเสียงดังๆ ผู้สูงอายุถึงจะได้ยิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้สูงอายุมักมีอาการหูอื้อหรือหูตึง ซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวัน เช่น ฟังไม่เข้าใจที่ลูกหลานพูดคุย รวมถึงลูกหลานไม่อยากคุยด้วยเพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ โดยผู้สูงอายุจะเริ่มจากไม่ค่อยได้ยินเสียงที่ละน้อยโดยเฉพาะเสียงแหลมๆ

    ดังนั้น ลูกหลานควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ เวลาพูดให้สบตาและพูดคุยใกล้ๆ พูดช้าๆ ในโทนเสียงทุ้มๆ รวมถึงปรึกษาแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Velasook Senior Smart Village 
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน 
670/1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 
Tel : 02 271 7000 ต่อ 40498 สายด่วน พว.รัตนา เกิดคล้าย โทร.09-5908-3684, พว.สมฤพร ภิญญาคง โทร.08-1647-3185 

อ้างอิง https://1th.me/OaB86