6 นวัตกรรม "ท้องถิ่น" วัตถุดิบชุมชน เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

6 นวัตกรรม
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,426 ครั้ง | โดย พีรพัฒน์ อินทร์อำนวย

ผศ.ดร.สุมาวลี จินดาผล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) ม.เชียงใหม่ มีการร่วมมือกับโรงเรียนผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้นกำเนิดของความคิดมาจากการที่ อุปกรณ์ต่างๆ ราวจับ อุปกรณ์การทำกายภาพต่างๆ ในท้องตลาดมีราคาสูงมาก จึงพยายามที่จะออกแบบนวัตกรรมจากวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้อุปกรณ์มีราคาถูกลง ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งวัสดุหลักๆ ในชุมชนจะเป็น "ไม้ไผ่" ที่ผ่านการอบด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกมาเป็นตัวไม้ไผ่ที่อบแล้วสามารถป้องกันแมลง เชื้อรา มอด อยู่ได้หลายสิบปี ใช้อยู่ในห้องน้ำได้ ราคาถูกมาก และนำมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยากแนะนำมี 6 นวัตกรรมด้วยกัน คือ

1.เก้าอี้ครอบโถนั่งยอง

การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเรื่องหนึ่ง คือ การเปลี่ยนส้วมนั่งยองเป็นส้วมนั่งราบ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้จากการนั่งยองๆ เป็นเวลานาน และส่งผลเสียต่อข้อต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการจัดทอดกฐินเพื่อนำเงินมาช่วยปรับเปลี่ยน แต่คิดว่าการดำเนินการเช่นนี้ก็ช่วยเปลี่ยนโถส้วมได้แค่ไม่กี่หลังเท่านั้น จึงมีการผลิตนวัตกรรมเก้าอี้ครอบบนโถนั่งยอง จะได้ไม่ต้องมีช่างเปลี่ยนโถ ถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่เกิดขึ้นที่ทำจากวัสดุไม้ไผ่อบพิเศษ

2.ทางเดินบำบัดด้วยกะลามะพร้าวและราวคู่

นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า ผู้สูงอายุจะเริ่มมีอาการเหน็บชา มีปลายประสาทชา ก็มีการกระตุ้นด้วยการใช้กะลามะพร้าว ที่จะช่วยกระตุ้นอุ้งเท้า และเส้นเอ็นที่อุ้งเท้า ทำให้เท้าที่บางท่านเริ่มมีลักษณะเจ็บที่ส้นเวลาเดินมากๆ ก็จะช่วยกระตุ้นให้เดินได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้ผ่อนคลายและยืดกล้ามเนื้อข้อเท้าและขาด้วย ซึ่งกะลามะพร้าวก็ถือเป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ไม่ยาก ส่วนราวคู่ที่ใช้จับเพื่อฝึกการเดินนั้น ก็ทำมาจากไม้ไผ่อบพิเศษ ซึ่งการฝึกเดินนั้นนอกจากใช้กะลามะพร้าวแล้ว ยังมีการใช้ก้อนกรวดมาทำทางเดินขรุขระ เพื่อให้ฝึกเดินพร้อมกับบริหารข้อเท้าร่วมด้วย ถือว่าเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มีราคาถูก เพราะเฉพาะตัวราวจับก็ชิ้นละประมาณไม่เกิน 100 บาท

3.เก้าอี้บริหารขาและแขน

ถือเป็นอุปกรณ์ที่เกิดมาจากความคิดที่ว่า ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก หรือโรคสโตรก ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต ต้องมีการกายภาพบำบัด ซึ่งเราพยายามทำให้มีราคาถูกและเข้าถึงชาวบ้านได้มากที่สุด ตัวนี้จึงร่วมมือกับชมรมผู้สูงอายุหนองตองพัฒนาในการพัฒนาขึ้นมา โดยเป็นเก้าอี้จากไม้ไผ่อบพิเศษ แต่มีการใช้ตุ้มน้ำหนักที่ใช้ออกกำลังกายมาติดตั้งเพื่อฝึกเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และติดตั้งรอกด้านบนใช้สำหรับบริหารเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่

4.กระดานไม้เสียบหลัก

อุปกรณ์นี้เป็นอุปกรณ์ในการช่วยบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะ มือ เนื่องจากหลังจากการฟื้นจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาตหรือสโตรก หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุทั่วไปที่ยังไม่เป็นโรค อต่เมื่ออายุมากขึ้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะน้อยลง การจะเริ่มกำสิ่งต่างๆ ก็จะเริ่มมีปัญหา เพราะฉะนั้น อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการขยับไม้ขยับมือจะช่วยให้ดูแลกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น โดยเป็นการให้หยิบจับแท่งไม้มาเสียบตามรูบนกระดาน และยังเป็นการบริหารสมองเพิ่มด้วย สำหรับผู้ป่วยที่อัมพาตครึ่งซีก ไม่มีแรงยกเอง ก็สามารถใช้มืออีกข้างในการช่วยได้

5.ไม้ยู้

อุปกรณ์นี้เทำมาจากไม้ โดยจะมีด้ามจับให้ออกแรงดันไม้ยู้ขึ้นลงช้าๆ เพื่อช่วยยืดแขนตรงข้อไหล่ ข้อศอก กล้ามเนื้อตรงหน้าอกและไหล่ให้มีแรงมากขึ้น โดยสามารถใช้ถุงทรายถ่วงน้ำหนักได้ตั้งแต่ 1 กิโลกรัมไปจนถึง 5 กิโลกรัม หากมากกว่านั้นจะเริ่มไม่ค่อยดี เพราะเราต้องการให้เกิดการขยายของกล้ามเนื้อมากกว่าความแข็งแรง 

6.มองต๋ำข้าว

อุปกรณ์นี้เดิมทีเป็นอุปกรณ์ใช้ในการตำข้าวมาหุงหาอาหารในครอบครัว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยนำมาประยุกต์เป็นเครื่องบริหารความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า เพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

"นวัตกรรมทั้งหมด ผู้สุงอายุสามารถมาใช้ได้ที่เทศบาลหนองตองพัฒนา หรือชมรมผู้สูงอายุบ้านป่าลาน ต.หนองตองพัฒนา โดยศูนย์กิจกรรมบำบัดกายภาพบำบัดยังเปิดให้เข้ามายืมเครื่องมือได้ที่ธนาคารอุปกรณ์ เช่น เตียงคนไข้ รถเข็นผู้สูงอายุ อุปกรณ์กายภาพต่างๆ ก็มาใช้ได้ที่ศูนย์ทุกวัน และวันพุธยังเปิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุด้วย ส่วนผู้ที่อยากได้รับความช่วยเหลือ หรือต้องการการปรับปรุงบ้านด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมท้องถิ่น ก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ม.เชียงใหม่" ผศ.ดร.สุมาวลี กล่าว