สี่พื้นที่ต้นแบบสุขภาวะผู้สูงอายุ:ชุมชนแห่งความ เอื้ออาทรและกรุณา

สี่พื้นที่ต้นแบบสุขภาวะผู้สูงอายุ:ชุมชนแห่งความ เอื้ออาทรและกรุณา
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,426 ครั้ง | โดย พีรพัฒน์ อินทร์อำนวย

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม “สุข (ภาวะ) กัน เธอ เรา” ตอน เยือนถิ่นหลังองค์พระ เพื่อนำเสนอต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ 4 แห่ง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน โดยกิจกรรมจัดขึ้นบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 อ.สามพราน จ.นครปฐม

กิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นรูปแบบการเสวนาระหว่างพื้นที่ต้นแบบ 4 แห่งแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นำเสนอขั้นตอนการพัฒนาอย่างละเอียด รวมทั้งมีกิจกรรมตัวอย่างของแต่ละพื้นที่ให้ทดลองเข้าร่วมและเรียนรู้ มีสินค้าจากผู้สูงอายุแต่ละชุมชนวางจำหน่าย คลอเสียงเพลงจากสุนทราภรณ์ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย บรรยากาศของงานจึงค่อนข้างครึกครื้นรื่นเริงแม้อุณหภูมิยามเช้าจะอบอ้าวและพาเหงื่อไหลไคลย้อย

เสวนาผู้ทรง

ปีนี้ (พ.ศ.2562) จะเป็นปีที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าจำนวนเด็ก และในอีกสองปีข้างหน้ามีการคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยจะมีประชากรสูงอายุถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นทุกภาคส่วนไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชนต่างต้องตระหนักและเตรียมพร้อมสำหรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ต่างก็เริ่มต้นดูแลซึ่งกันและกันเอง ดังจะเห็นได้จากชุมชนต้นแบบทั้งสี่ที่มาร่วมกิจกรรม โดยชุมชนแต่ละแห่ง มีรายละเอียดดังนี้

Model แฟลตเอื้ออาทร

ชุมชนหลังองค์พระ หรือ ชุมชนเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 มีลักษณะการอยู่อาศัยเป็นแฟลตจำนวน 33 อาคาร 790 ห้อง โดยประชากรในชุมชนต่างที่มา จึงมีธรรมชาติต่างคนต่างอยู่ ไม่รู้จักกัน วิธีการทำงานของจิตอาสาของชุมชน จึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยแบบปูพรม เดินเคาะประตูทุกห้อง เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนและภาคี และนำไปสู่การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อให้คนในชุมชนได้รู้จักพูดคุยกัน ปรับปรุงห้องพัก ทำราวจับสำหรับผู้สูงอายุ/ พิการ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิ์การรักษา กิจกรรมปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เป็นต้น

Model เขาทอง

ชุมชนเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นชุมชนที่เริ่มต้นจากความสนใจในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย แต่ไม่มาหาหมอ ประกอบกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีวิทยาเขตอยู่ใกล้ชุมชนดังกล่าว จึงเกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พยาบาล พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน นักวิชาการ และจิตอาสา ดำเนินการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 19.21% ในชุมชน และขาดผู้ดูแลทั้งสิ้น 37 ราย กิจกรรมของชุมชนจึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือในการเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลสุขภาพทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน ปรับปรุงสภาพบ้าน และแก้ไขปัญหาสำคัญ คือผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางมารับการรักษาหรือรับยาที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีรถ เมื่อสำรวจข้อมูลและรู้ประเด็นปัญหา จึงไม่ยากที่จะแก้ไข เพราะมีเพื่อนบ้านจิตอาสามากมายที่พร้อมช่วยเหลือ

Model ท่าพูด

ชุมชนท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม สำหรับที่นี่มีต้นทุนเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิม มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และมีพื้นที่วัดท่าพูดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี และเมื่อการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นควบคู่ไปกับการฟื้นฟูชุมชนและกระบวนการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง ทำให้กิจกรรมของชุมชนท่าพูด เชิญชวนคนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมงาน เกิด “กลุ่มมีดีที่ท่าพูด” ทางกลุ่มประกอบด้วยแกนนำจิตอาสา ครูสมควร คงประชา ครูวัยเกษียณซึ่งเคยเกือบเป็นโรคซึมเศร้าหลังเกษียณใหม่ๆ เพราะคิดว่า “ตนเป็นคนที่แก่ที่สุดในโรงเรียน ไม่มีคุณค่า ต่อเมื่อได้ร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน ก็พบว่าตนกลายเป็นคนที่อ่อนสุด อายุน้อยกว่า และยังแข็งแรง จึงลดน้ำหนักเพื่อให้ตนเองคล่องตัว จะได้ช่วยเหลือประคับประคองผู้สูงอายุในชุมชนได้”

Model บ้านกลึง

ชุมชนบ้านกลึง จ.นครราชสีมา เริ่มดำเนินการด้วยการสำรวจชุมชน พบว่า ในชุมชนมีผู้สูงอายุและเด็กเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่วัยแรงงานต่างเดินทางไปทำงานในเมือง คนในชุมชนขาดพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน

เมื่อพิจารณาข้อมูลร่วมกันจึงเห็นพ้องว่าควรจัดทำสวนสุขภาพบริเวณวัดบ้านกลึง ซึ่งเป็นพื้นที่กลางระหว่างพื้นที่หมู่บ้านทั้ง 5 แห่งพอดี ผู้ใหญ่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ และคนในชุมชนจึงร่วมกันสร้างสวนสุขภาพที่มีทั้งทางเดิน/วิ่ง อุปกรณ์ออกกำลังกาย ลานกิจกรรม ฯลฯ ซึ่งสามารถลงมือลงแรงทำกันเองได้จนสำเร็จภายใต้งบประมาณที่จำกัด กลายเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย และพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้จากผู้สูงอายุให้กับเด็กในชุมชน ทั้งเรื่องการจักสาน การฟื้นฟูอาหารท้องถิ่นทั้งคาวหวาน เช่น หมี่โคราช นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ ส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานอีกด้วย

กิจกรรม (หมีโคราช)

ปัจจัยความสำเร็จของชุมชนต้นแบบทั้ง 4 แห่ง ล้วนมาจากการดำเนินงานที่เป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยการสนับสนุนและจุดประกายจากทีมงานสถาบันอาศรมศิลป์ ขั้นตอนต่างๆ ในการทำงานมีสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ การสำรวจข้อมูล การคืนข้อมูลกลับชุมชน และการมีส่วนร่วม

การสำรวจข้อมูล จะทำให้ชุมชนรู้จักตนเอง รู้ปัญหา เข้าใจบริบทและประชากรเพื่อนร่วมชุมชนของตนเอง และขั้นของการมีส่วนร่วมด้วยการคืนข้อมูลต่างๆให้ชุมชนรับรู้รับทราบร่วมกัน นำมาสู่วิธีการปรับแก้และร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงใจ

ก้าวต่อไปของการทำงานโครงการฯ คือการขยายผลพื้นที่ชุมชนสุขภาวะเพิ่มอีก 9 แห่ง โดยมีชุมชนต้นแบบ 4 แห่งนี้เป็นเสมือนพี่เลี้ยง ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้คำแนะนำ และจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัด คือ ชุมชนพื้นที่สุขภาวะต้นแบบทั้ง 4 แห่ง ทำให้เห็นภาพของการดำเนินงานชุมชนกรุณา ซึ่งเป็นตัวอย่างรูปธรรมจากแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น การสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุ การให้คุณค่ากับวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น สนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรในท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุที่มีความต้องการเฉพาะ

กิจกรรม ผส 2

ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมซึ่งเป็นการเสวนาของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานวิชาการด้านผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเห็นในภาพรวมที่ชื่นชมความสำเร็จของการดำเนินงาน รวมทั้งทิ้งโจทย์สำคัญให้ตระหนักถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานระยะยาว และสุดท้ายชี้ให้เห็นว่าชื่อพื้นที่ในการจัดกิจกรรม คือ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรนี้ สะท้อนถึง “ความเอื้ออาทร” ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เป็นส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการดำเนินงาน ซึ่งผู้เขียนตีความว่า ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างเอื้ออาทรและกรุณา ชุมชนแห่งความเอื้ออาทรก็เปรียบประหนึ่งเป็นชุมชนกรุณา เช่นเดียวกัน