ผู้สูงอายุควรปรับตัวอย่างไรใน COVID-19

ผู้สูงอายุควรปรับตัวอย่างไรใน COVID-19
วันที่ 3 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,020 ครั้ง | โดย พีรพัฒน์ อินทร์อำนวย

บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ หรือเรียกในชื่อ โควิด19 มากที่สุด ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ

ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID–19 ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กระจายออกไปถึง 168 ประเทศทั่วโลกในเวลานี้โดยเริ่มตั้งแต่ที่เมืองอู๋ฮั้น มณทลหูเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปลายเดือนธันวาคม 2562 (2019) และขยายตัวไปยังประเทศ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งประเทศไทย

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ในเดือนมีนาคม วันที่ 31 มีนาคม 2563 ศูนย์กลางของโรค ได้ย้ายจากเมืองอู๋ฮั้น ประเทศจีน ระบาดไปยังประเทศ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน สวิสเชอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนคนตายที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วสูงกว่าประเทศจีน ทั้งๆที่จำนวนคนได้รับเชื้อน้อยกว่า

จากสถิติของคนที่ได้รับเชื้อและมีอาการป่วย และตายในที่สุดจากสถิติของผ้ป่วยในทุกประเทศ พบว่า ผู้ได้รับเชื้อและป่วยที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 60 ปี ยิ่งสูงกว่า 80 ปียิ่งมีอัตราการเจ็บป่วยมาก และตายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาจพูดได้ว่าผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ ป่วย จะเสียชีวิตมากที่สุด ยิ่งมีอายุเกิน 70 ปียิ่งป่วยและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่มีอายุต่ำกว่ากว่ากลุ่มอายุ 60 ปีลงมา

เหตุผลที่ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะได้รับเชื้อ นั้น เนื่องจากอย่างที่เรามักจะทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า

1.ผู้สูงอายุ โดยทั่วไปมีภูมิคุ้มกันต่ำ ยิ่งสูงอายุมากเท่าไร ก็ยิ่งภูมิต่ำมาก ยกเว้นในกลุ่มที่สนใจสร้างสุขภาพ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ

2.ผู้สูงอายุมีโรคเรื้อรัง หลายๆโรคในคราวเดียวกัน เช่นโรคความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน

3.ผู้สูงอายุมักป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคไต และมักจะมีเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและจะเป็นปัญหามาก

ดังนั้นผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตอย่างไร ในช่วงที่มีการระบาดของ โควิด19 จึงจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ไปติดต่อรับเชื้อจากบุคคลอื่น

ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ หรือเป็นนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ สิ่งที่ควรปฎิบัติ ในช่วงที่ยังมีการระบาด

1.ให้ชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ หยุดทำกิจกรรม ที่มีการประชุมร่วมกันในห้องประชุม

2.ถ้าจำเป็นต้องไปพบปะผู้คน ให้ทิ้งระยะ ห่างจากคนที่เราจะพูดคุยด้วย ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร (Social distancing )

3.ไม่ควรโดยสารรถสาธารณะ ที่มีผู้คนมากมายปะปนอยู่ในรถ ที่ไม่ถ่ายเทของอากาศ   

4.เวลาออกนอกบ้าน ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

5.พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปสั่งสรรหรือพบปะ และหรือเล่นเกมส์ต่างๆ  เล่นหมากรุก หมากฮอส หรือเล่น กีฬา ที่คนมาร่วมกันอย่างใกล้ชิด

6.ทางที่ดีให้อยู่กับบ้าน ไม่ออกไปข้างนอก และใช้เวลาส่วนใหญ่ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ติดตามข่าวสารบ้าง ออกกำลังกายในบ้าน โดยการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

7.ทำในสิ่งที่เพลิดเพลิน ปลูกต้นไม้

8.ไม่ไปในที่ๆมีการชุมนุมของคนจำนวนมาก เช่น สนามม้า สนามมวย สนามกิฬาโรงหนัง

9.ไม่ไปรับประทานอาหารข้างนอก หรือในร้านอาหาร

10.หมั่นล้างมือบ่อยๆทุกครั้งที่ ไปจับหรือแตะสี่งของที่มีผู้จับบ่อยๆ เช่นปุ่มลืป ลุกบิดประตู

11.เวลารับประทานอาหาร ให้ใช้ช้อนกลางของใครของมัน หรือสำรับใครสำรับมัน

สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ โควิด19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็คือ เมื่อเชื้อเข้าสู่หลอดลม มันจะเข้าไปค่อยๆทำลายปอดทีละน้อย และทำให้เกิด สภาพของปอดอักเสบในระยะแรก จนขยายไปเป็นพังผืด ซึ่งทำให้เป็นสาเหตุของการตายในที่สุดโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะเสี่ยงมาก

การอยู่ในบ้าน 14 วัน โดยไม่ให้ออกจากบ้านไปพบปะผู้คน ดูจะไม่ตรงกับนิสสัยของคนไทย เพราะคนไทย ชอบสังคมกับผู้คน แม้แต่ที่บ้านก็มีลูกหลานมาอยู่ด้วย ซึ่งต่างกับธรรมเนียมฝรั่ง ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร โดยเฉพาะการอยู่ในชุมชน มักจะมีการช่วยเหลือเกื้อกูล มีงานที่จะต้องพบปะกัน เช่น งานศพ งานบุญ งานที่เกี่ยวกับศาสนา ทำให้คนในชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ดังนั้นการให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ไปติดเชื้อ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ไปแพร่ระบาด หรือไปรับเชื้อมาจากคนในชุมชน

เราจะสังเกตอย่างไรว่ามีการติดเชื้อระยะแรกๆ คงไม่มีอาการปรากฎให้เห็น ก็จะเหมือนคนปกติโดยทั่วไป แต่เมื่อเวลาล่วงไปอีกระยะหนึ่งประมาณ 5-7 วันโดยประมาณ จะมีอาการคล้ายๆเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 องศาเชลเซียส ไข้จะไม่สูงเหมือนไข้หวัดใหญ่

ผมอยากสรุปง่ายๆ ว่าผู้สูงอายุเราควรทำตัวอย่างไร ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ เพราะถ้าเราดูเหตุการณ์นี้ตามความเป็นจริง การที่จะทำให้เราปลอดภัย ไม่ไปได้รับเชื้อโควิด19 นั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะมันอยู่ที่ตัวเราเองแท้ๆ ถ้าเรามองย้อนหลัง เมื่อครั้งที่มีเชื้อเอดส์แพร่กระจาย ทำให้คนไทยกลัวกันมาก แต่ก็เพราะ HIV AIDS นี้เอง เมื่อเรารู้ที่ไปที่มา ก็เลยทำให้เรารู้จักระวังเนื้อระวังตัว เลิกไปข้องแวะกับหญิงที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ถ้าจะไปก็ต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง แรกๆ เราจับทิศทางไม่ออก ผมยังจำได้ว่าที่ห้องผ่าตัด หมอและพยาบาลห้องผ่าตัดในช่วงแรกๆต้องใส่ชุดอวกาศ เพราะไม่รู้ว่าไวรัส HIV มันจะมาจู่โจมเราทางไหน จนกระทั่งเรารู้ที่มาที่ไป ก็หาทางป้องกันได้ และทำให้คนไทยสงบเสงี่ยมขึ้น จนกระทั่งมีคนค้นพบ ยาต้านไวรัส เวลานี้เรื่องของ HIV AIDS  เลยสงบลงไป ดังนั้น เมื่อถึงคราวมีการระบาดของโควิด19 เราสามารถรู้ได้เร็วกว่ามาก

การติดต่อหรือรับเชื้อนั้น โดย การไอ จาม ละอองจะฟุ้งกระจายออกมาในอากาศ เราก็หลีกเลี่ยง ไปให้ห่างผู้คนเสียก็หมดเรื่อง และป้องกันตนเอง โดยใช้หน้ากากอนามัย ปิดจมูกและปาก ทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้าน ดังนั้นเราก็ควรอยู่บ้านจะดีที่สุด เลิกสังสรรค์กับผู้คนโดยไม่จำเป็น

ถ้าอยู่บ้าน ก็ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ทำเป็นปกติ นอนให้ได้ 8 ชั่วโมง ตื่นเช้าก็ออกกำลังกาย ภายในบ้าน ช่วงเช้าๆ ยังไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เราก็ไปเดินสักครึ่งชั่วโมง กลับบ้านรับประทานอาหารเช้า พักผ่อน อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ช่วงบ่ายก็นอนพักสักครี่งชั่วโมง นั่งสมาธิภาวนาสัก 15 นาที เข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ควรจะเกินสามทุ่ม ตื่นเช้าๆ การนอนเต็มอิ่มไม่น้อยกว่า เจ็ดชั่วโมงทำให้ร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกัน หรือมักเรียกกันว่า มีความต้านทาน รับประทานผ้ก และผลไม้ให้มากๆ ถ้าทำได้อย่างนี้ โควิด19 ไม่มีทางมาข้องแวะแน่ๆ