แต่งบ้านสวยให้ปลอดภัยร้ายใกล้ตัว เพื่อผู้ใหญ่ในบ้าน

แต่งบ้านสวยให้ปลอดภัยร้ายใกล้ตัว เพื่อผู้ใหญ่ในบ้าน
วันที่ 4 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 1,563 ครั้ง | โดย วิชนี ดอกบัว

ภัยร้ายใกล้ตัวจากสภาพแวดล้อมในห้องหรือในบ้าน ถือเป็นอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุในบ้านพลาดพลั้ง เกิดเรื่องไม่คาดฝัน เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เพราะด้วยวัยและสมรรถภาพของร่ายกายไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง ประกอบกับการที่เราไม่ได้เตรียมสิ่งต่างๆ ให้พร้อมไว้สำหรับการดูแลพวกเขา ก็เป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เกิดเรื่องขึ้นได้ น้องสุขจึงมีเคล็ดลับในการจัดบ้านให้น่าอยู่ และปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะมาฝากกันจ้า

เริ่มกันที่ห้องนอน

ห้องนอนเป็นห้องหลักที่ผู้สูงอายุ คุณลุงคุณป้าจะใช้เวลาอยู่มากในหนึ่งวัน ต้องเป็นห้องที่เขาอยู่แล้วสบายที่สุด ปลอดภัยที่สุด เช่น โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่ลุงจ๋าป้าจ๋าอาจต้องลุกออกจากเตียงมาทำธุระส่วนตัว เป็นต้น

1. ไฟฉาย
ควรเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว หยิบจับได้ง่ายและทันที โดยที่ไม่ต้องลุกออกจากเตียงไปเปิดไฟในที่ไกลๆ เช่น ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุเดินไปเปิดไฟที่สวิทช์ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ใกล้ประตู โดยอาจวางไฟฉายไว้ที่หัวเตียง เวลาจะลุกไปไหนก็หยิบ เปิดไฟได้เลย

2. โคมไฟหัวเตียง
ยังคงเป็นเรื่องของความสว่างอยู่ เพราะในตอนมืดเป็นเวลาที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายที่สุด เนื่องจากการที่เขาอาจมองไม่เห็น และยังเดินได้ไม่แข็งแรงอีก ดังนั้นจึงต้องหมั่นเก็บกวาดสิ่งของที่อยู่บนพื้นให้เรียบร้อย ไม่มีอะไรรกๆ ขวางทาง และยังต้องมีโคมไฟหัวเตียง สำหรับเปิดได้ง่ายๆ จากบนเตียง และยิ่งในกรณีที่ต้องการเปิดคาไว้ในขณะที่อยู่บนเตียง

3. พรม (กันลื่น)
พรมที่วางไว้ในห้องนอน อาจเป็นประเภทกันลื่นด้วย เพราะโดยปกติของคนวัยนี้จะเกิดการลื่นล้มได้ง่ายมาก และการลื่นล้มที่อาจมองว่าเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย แต่มันก็สามารถทำให้เกิดเป็นเรื่องใหญ่จนถึงชีวิตได้เช่นกัน จึงควรใส่รายละเอียดในเรื่องของการเดินบนพื้นให้ดีๆ ปูพรมให้ทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลื่นล้ม

4. ไม้ค้ำพยุงตัว
คนสูงวัยอาจมีปัญหาในเรื่องของการลุกนั่ง โดยเฉพาะเวลาลุกออกจากเตียง ลุกจากที่นั่งเดิมนานๆ เราสามารถจัดหาไม้ค้ำพยุงตัวติดไว้ตรงข้างเตียง เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยให้พวกเขาสามารถลุกได้ง่ายขึ้น เป็นเหมือนตัวช่วยในการพยุงตัวขึ้นมาได้อีกแรง

ห้องนำ้

ห้องน้ำเป็นห้องที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในบรรดาทุกห้องในบ้าน เพราะความลื่นที่มาจากน้ำ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มได้ ดังนั้นเราอาจต้องมีตัวช่วยเยอะหน่อย กับการจัดห้องนี้นะจ้ะ

1. เบาะรองนั่งโถส้วม
สำหรับคุณลุงคุณป้าที่มีปัญหาในการนั่งยองในตำแหน่งที่ต่ำไป ก็สามารถหาเบาะรองนั่งสำหรับโถส้วมมาวางเพิ่ม เพื่อให้สูงขึ้น และเพิ่มความสบายเวลานั่งทำธุระได้จ้า

2. บาร์จับที่อ่างอาบน้ำ
ตัวนี้สำคัญมากๆเลยค่ะ เพราะมันจะช่วยพยุงเวลาที่ลุงจ๋าป้าจ๋าเคลื่อนตัวเวลาอยู่ในอ่างอาบน้ำที่ลื่นๆ หรือเวลาที่ต้องลุกนั่งยืน ก็สามารถเกาะราวนี้ได้ หรือเวลาที่จะลื่นล้มเอง ก็คว้าราวนี้กันลื่นได้เหมือนกัน

3. แผ่นกันลื่นสำหรับในห้องน้ำ

แผ่นกันลื่น ควรเลือกแบบที่มีคุณภาพเพื่อให้เชื่อใจในประสิทธิภาพในการกันลื่นได้จริงๆ วางไว้นอกอ่างอาบน้ำ อาจเป็นในตำแหน่งที่คุณลุงคุณป้าจะก้าวขาออกมาจากอ่างก็ได้

4. เก้าอี้นั่งอาบน้ำ
เก้าอี้นั่งอาบน้ำสำหรับห้องน้ำที่เป็นแบบยืนอาบ ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในการยืนนานๆ ก็สามารถนั่งอาบน้ำได้จะสะดวก และสบายตัวกว่า

5. ตัวล็อกฝักบัว
สำหรับเวลาที่คุณลุงคุณป้าสามารถอาบน้ำได้โดยที่ไม่ต้องถือฝักบัวให้เมื่อย ตรึงฝักบัวไว้กับตัวล็อกจะทำให้เราอิสระในการอาบน้ำ และสบายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าตัวล็อกนั้นสามารถปรับระดับได้ ก็จะยิ่งเวิร์ค!


ห้องนั่งเล่น
ในส่วนของห้องนั่งเล่นที่ผู้สูงอายุอาจใช้เวลาอยู่ในช่วงกลางวันมาก ประเด็นการลื่นล้มอาจตกรองไป แต่จะมีอีกประเด็นใหม่ที่น่าห่วง นั่นคือเรื่องความปลอดภัยที่มาจากนอกบ้าน ห้องนั่งเล่นเป็นส่วนที่บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ประตูบ้าน จึงทำให้เป็นด่านแรกในการที่คนแปลกหน้าที่เข้ามาในบ้านจะเจอ เราจึงควรมีอุปกรณ์ที่รองรับอันตรายที่จะมาจากข้างนอกด้วย

1. โทรศัพท์
โทรศัพท์นี้เป็นตัวช่วยที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถติดต่อคนในบ้านที่อยู่ข้างนอกได้ ควรวางอยู่ในตำแหน่งที่ง่ายต่อการหยิบ มองเห็นได้ง่าย ไม่ต้องกลัวลืม อาจวางอยู่บนแท่นชาร์ตที่เป็นที่ประจำของโทรศัพท์เครื่องนี้เพื่อให้จำได้ง่าย

2. กริ่งโทรศัพท์
สำหรับดูเวลาใครกดกริ่งหน้าบ้าน โดยที่ยังไม่ต้องออกไปเปิด ก็สามารถมองเห็นหน้าได้จากจอมอนิเตอร์ภายในบ้านได้เลย ทำให้คุณลุงคุณป้าที่อยู่บ้านคนเดียวได้อุ่นใจ ปลอดภัยขึ้นมาก เป็นเหมือนด่านแรกในการสกรีนคนแปลกหน้าที่พยายามจะเข้ามาในบ้านได้

3. โคมไฟให้เพียงพอ
ผู้สูงอายุต้องการความสว่างในระดับที่มากกว่าวัยปกติถึง 3 เท่า ดังนั้นเรื่องของโคมไฟ ควรมีติดไว้ทุกที่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องไหนๆ

4. จัดเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบ
ในห้องนั่งเล่นจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าเยอะ ทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง โคมไฟ เป็นต้น ดังนั้นมันจะมักมีสายไฟระเกะระกะเกลื่อนอยู่บนพื้น ซึ่งสายไฟรกๆนี้ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการสะดุดล้มได้เช่นกัน ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบ เช่น นำเทปหรือเคเบิลไทร์มารัดเก็บเป็นกลุ่มๆ หรือแปะติดกับผนัง เพื่อป้องกันไม่ให้มันรกๆอยู่บนพื้น เสี่ยงต่อการสะดุดล้มแบบไม่รู้ตัว

มาถึงห้องสุดท้ายกันแล้ว… นั่นคือ
ห้องครัว
ในห้องครัว ส่วนมากแทบทุกบ้านก็จะมีแต่ข้าวของเครื่องใช้รกๆ เต็มไปหมด โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการทำอาหาร ดังนั้นในห้องนี้ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ ให้น่าใช้ และสามารถทำอาหารได้อย่างปลอดภัย หยิบจับสิ่งของได้สะดวก และไม่หลงๆลืมๆ หยิบผิดชนิดด้วยนะ

1. สัญญาณเตือนไฟไหม้
ใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลักคือ ไฟไหม้ ที่คนสูงวัยอาจเกิดอาการหลงๆลืมๆเวลาทำกับข้าวได้ เช่น ลืมเปิดเตาแก๊ส ลืมว่าตั้งหม้อต้มไว้ เป็นตัน

2. เปลี่ยนอุปกรณ์การทำอาหารให้หยิบง่ายด้วยการแยกสี
ปกติแล้วเวลาเราทำอาหารก็มักจะต้องใช้อุปกรณ์เยอะ และคุณลุงคุณป้าอาจหลงลืม หยิบอุปกรณ์ หรือเครื่องปรุงผิดๆถูกๆ บ้าง วิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือทำสีแยก หรือเขียนกำกับไว้ที่ตัวเครื่องปรุงให้เด่นชัดไปเลย หมดปัญหาการหยิบผิด และยังทำให้คุณลุงคุณป้าที่สายตาไม่ดี ได้หยิบอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องด้วยสีสันด้วย

3. รถเข็น
เอาไว้สำหรับเข็นอาหารที่ทำเสร็จแล้วไปกินห้องอื่นๆ ได้ อาจกินในห้องนั่งเล่น หรือห้องกินข้าว โดยที่ไม่ต้องถือถาด ถือจานให้เสี่ยงต่อการทำหกหล่น และลุงจ๋าป้าจ๋าบางท่านก็จะได้ไม่ต้องออกแรงในการยกจานอาหารหนักๆ อีกด้วย

4. เก้าอี้ทรงสูง
ส่วนมากเคาท์เตอร์ในห้องครัวจะออกแบบมาให้เรายืนทำอาหาร เตรียมเครื่องปรุง แต่สำหรับผู้สูงอายุ การยืนนานๆ ก็จะมีผลต่อสุขภาพได้ จึงอาจนั่งเก้าอี้ทรงสูงในการเตรียมเครื่องปรุง หั่นส่วนผสม เพื่อเตรียมขึ้นเตาได้

TIPS : ควรมีการเตรียมเรื่องของข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุไว้ทุกที่ในบ้าน เช่น เบอร์โทรโรงพยาบาล ตำรวจ สายด่วนต่างๆ ที่คุณลุงคุณป้าสามารถกดเรียกได้ทันทีที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น 

อ้างอิง https://younghappy.com/blog/life-style/safty-house/