จับตา “เศรษฐกิจสูงวัย” อำนาจเปลี่ยนขั้วจากมิลเลนเนียมสู่ผู้สูงอายุ ภายในปี 2050

จับตา “เศรษฐกิจสูงวัย” อำนาจเปลี่ยนขั้วจากมิลเลนเนียมสู่ผู้สูงอายุ ภายในปี 2050
วันที่ 29 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 2,782 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่กลุ่มผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลกเป็นครั้งแรก ในปี 2593 (2050) และกลายเป็นตัวขับเคลื่อน สู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver economy) และเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy)

ส่วนไทย จะมีประชากรสูงอายุถึง 30% ในปี 2578 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศ ในหลายด้านที่รอการปรับตัว

ผู้สูงวัยจะครองเมือง

อิปซอสส์ บริษัทด้านวิจัย และการตลาดได้เผยรายงานผลวิจัยชุดล่าสุด “Getting Older–Our Aging world” เพื่อเปลี่ยนมุมมอง สร้างความเข้าใจ และอธิบายผลกระทบของสังคมผู้สูงวัยให้กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ

เป็นที่คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 1980 – 2050 (พ.ศ. 2523 – 2593) จำนวนผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว โดยในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โลกจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 2,100 ล้านคน ส่งผลให้ในอีกราว 30 ปีต่อจากนี้จะเป็นครั้งแรกที่โลกมีจำนวนคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว โดย 1 ใน 5 ของประชากรโลกในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งสถิติดังกล่าวได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก

จากการขยายตัวของกลุ่มคนสูงอายุอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนเป็นที่แน่ชัดว่าเจนเนอเรชั่นทรงอิทธิพลจะมีการเปลี่ยนขั้ว จากกลุ่มมิลเลนเนียลส์ Millennial ที่เป็นความเชื่อเดิมๆ มาเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่คุมอำนาจทางการเงินและการเมือง เป็นกลุ่มที่มีเงินเหลือเพื่อการใช้จ่าย (Disposable Incomes) มากกว่าคนทุกกลุ่ม

กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สู่ “เศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy และ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) ผลักดันให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาและศึกษาแนวโน้มกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับในประเทศไทย — ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส  ได้ระบุว่า หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี 2543 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ใน 10%

และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2564 ซึ่งจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากนั้นในปี 2578 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super  Aged  Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึง 30% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศในหลายด้าน ทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับความกังวลของนานาประเทศในขณะนี้

ทำความรู้จักผู้สูงวัยชาวโลกที่แท้จริง

มารู้จักผู้สูงวัยชาวโลก และผู้สูงอายุคนไทย กับการจับโอกาสมหาศาล ลดความเสี่ยง เริ่มจากการสร้างมุมมองใหม่ ออกจากปัญหาและการติดกับความเชื่อและภาพจำเดิมๆ เช่น การกำหนดผู้สูงวัยจาก ‘ตัวเลขอายุ’ และภาพจำเดิมๆ ที่ว่า ผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ และไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักการตลาดกว่า 79% ยังใช้ ‘อายุ’ เป็นตัวชี้วัดในการกำหนดตัวตนของผู้สูงวัย แทนที่จะศึกษาจากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำให้เราไม่รู้จักผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและวางแผนต่างๆ ไม่ถูกทิศทาง

สำหรับประเทศไทยกว่า 75% ของผู้สูงวัยคนไทยมีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ กว่า 1.2 ล้านของผู้สูงวัยชาวไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นความเชื่อที่ว่าผู้สูงวัยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป

ความชอบ ความต้องการ พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ ของผู้สูงอายุทั้งที่เป็นภาพรวมของโลกและกลุ่มผู้สูงวัยชาวไทย ต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นเดียวกับเจนเนอเรชั่นกลุ่มอื่นๆ

จากความเชื่อเดิมๆ ที่ฝังใจกันทั่วไปว่า ผู้สูงอายุไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นวิวัฒนาการของโลกนั้น อาจต้องมีการทบทวนใหม่ เพียงแต่ผู้สูงอายุอาจจะมีข้อจำกัดบ้างในบางจุดเพื่อการปรับตัวให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ อีกทั้งอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น   

โดยสิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องเงินและสุขภาพ (Top Worries – Money & Health) และสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวไทยมีความกังวลใจซึ่งก็มีความใกล้เคียงกัน โดยสามารถเรียงลำดับตามความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยของโลก คือ

  • 30% กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต
  • 25% กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • 24% เสียความทรงจำ
  • 22% ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
  • 20% การจากไปของคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง   
  • 20% ความเจ็บป่วย
  • 19% ถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว เหงา เศร้า
  • 18% ไม่มีอิสระ
  • 16% ตาย   
  • 13% หูตึง / ตามองไม่เห็น

ส่วนความกังวลใจของผู้สูงอายุคนไทยเมื่อถึงวัยชรา เรียงตามลำดับได้ดังนี้    

  • 51% ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
  • 41% เจ็บป่วย
  • 34% ความเคลื่อนไหวทางร่างกาย
  • 32% มีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต
  • 27% เสียความทรงจำ
  • 20% ญาติและเพื่อนฝูงค่อยๆ จากไป
  • 15% สูญเสียสายตาและ การได้ยิน
  • 10% ถูกทิ้งให้ล้าหลังทางเทคโนโลยี
  • 10% ผมหงอกและศีรษะล้าน
  • 10% เบื่อหน่าย ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว
  • 7% ไมได้รับการดูแลเอาใจ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบัน ผู้สูงอายุคนไทยมีประกันภัยด้านสุขภาพถึง 50% และอีก 18% เป็นการทำประกันในลักษณะ Endownment Life insurance

ที่มา : https://positioningmag.com/1250572