มุมมอง “สังคมผู้สูงอายุ” กับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

มุมมอง “สังคมผู้สูงอายุ” กับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
วันที่ 29 มี.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,592 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

ในปี 2569 ประเทศไทย จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หมายถึงมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนเกิน 20 % ของประชากรทั้งประเทศ ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ท่ามกลางการตั้งคำถามถึงวางแผนดูแลผู้สูงวัยหลังเกษียณของทุกภาคส่วนในหลายมิติ

นางโอมจิ้ แซ่ห่าน ชาวไทยเชื้อสายจีน ในวัย 62 ปี ตกอยู่ในสถานะสมาชิกในศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ. สุพรรณบุรี  หลังลูก2คนไม่มีศักยภาพในการดูแล  แม้จะทำงานรับจ้างมาตั้งแต่ยังสาว แต่กลับไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีนายจ้าง เมื่อเข้าสมัครงานในวัยเกษียณจึงไม่มีใครรับทำงาน เธอจึงแจ้งความประสงค์ขอรับการดูแลใช้ชีวิตบั้นปลายที่ศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้

ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า ที่นี่ตั้งขึ้นเพราะในพื้นที่ มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและไม่มีญาติดูแล ปัจจุบันรับงบประมาณจาก องค์การบริการส่วนจังหวัดปีละ 1 ล้าน 3 แสนบาท แบบปีต่อปี  แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการดูแล แต่ยังไม่มีหน่วยงานราชการใด รับศูนย์นี้อยู่ในสังกัดโดยตรง  ซึ่งกรณีของนางโอมจิ้ แม้จะทำงานเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใดรับทำงาน ประกอบกับเธอไม่มีญาติดูแล จึงได้สิทธิ์มาอยู่ที่นี่

ข้อมูลจาก กรมการปกครอง ระบุ สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก  11 ล้านในปัจจุบัน ในปี 2569 จะเพิ่มเป็น 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการเกิดกลับต่ำลง

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานแรงงาน สะท้อนมุมมองว่า อนาคตภาคแรงงานจะมีสัดส่วนลดลงจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ  และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน แม้ปัจจุบันกฎหมายจะจูงใจให้ภาคเอกชน รับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อนำรายจ่ายมารับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 2 เท่า แต่ต้องจ้างลูกจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริการ เอกชน เสนอควรรัฐสมทบให้สอดคล้องตามเงินเดือนจริงของลูกจ้าง ถึงจะจูงใจมากกว่า

สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพราะตามโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลร่วมมือกับเอกชน 23 หน่วยงาน เมื่อมีนาคม ที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่ผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานในเดือน กันยายน 2562 คือ แรงงานด้านการผลิต แม่บ้าน และ พนักงานบริการลูกค้า  รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 11,432 บาท  เป้าหมายตลอดปี 2562 คือ บรรจุให้ได้ 100,000 ราย แม้มีผู้แจ้งความจำนงค์หลายหมื่นคน แต่ขณะนี้ได้การบรรจุ 3,900 คน โดยสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะงบประมาณน้อย

 

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ แนะนำว่า  รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับในการให้ความรู้ทางเงินกลุ่มคนทำงานสำหรับวัยเกษียณ ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุที่เก็บเงินเกษียณไม่ทัน ต้องปรับโครงสร้างการจ้างงานเพิ่มตำแหน่งงานและวางระบบสวัสดิการให้รอบคอบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับจากภาคเอกชนด้วย 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐ ต้องเร่งวางแผน  เรื่องการวางโครงสร้างการจ้างงานผู้สูงอายุในตรงกับลักษณะงานในยุคที่มีเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย เพราะทันทีที่ผู้ประกอบการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารธุรกิจ สามารถใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ในราคาที่ถูกกว่า ทักษะของการทำงานในระดับปกติ เช่นงานบริการ ก็อาจไม่มีความจำเป็นในตลาดแรงงานอีกต่อไป

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/116790