กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐ ที่เคยมารับบริการหรือมาติดต่อกับกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ประจำปี 2566

กรมกิจการผู้สูงอายุ ขอเชิญบุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐ ที่เคยมารับบริการหรือมาติดต่อกับกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ประจำปี 2566
วันที่ 1 ก.พ. 2566 | ผู้เข้าชม 1,404 ครั้ง

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

1. ข้อมูลพื้นฐานของการประเมิน

1.1 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตและเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยใช้ชื่อว่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” (Integrity and Transparency Assessment : ITA) โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556

1.2 แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ ๒๑ การต่อต้านการทุจริตมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) ได้นำผลการประเมิน ITA ไปกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของแผนแม่บท โดยในระยะที่สอง (พ.ศ. 2566-2570) กำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 100

1.3 สำหรับการประเมิน ITA ประจำปี 2566 มีการปรับปรุงในรายละเอียดของระเบียบวิธีการประเมินและประเด็นการประเมินเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อจำกัดของการประเมินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินมากยิ่งขึ้น

1.4 หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8,323 หน่วยงาน


2. แหล่งข้อมูลในการประเมินและกลุ่มตัวอย่างในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วย 3 แหล่ง ดังนี้ 

2.1 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน หมายถึง บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ผู้อำนวยการ/หัวหน้า ข้าราชการ/พนักงาน ไปจนถึงลูกจ้าง/พนักงานจ้าง/พนักงานจ้างเหมาบริการที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานภาครัฐมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี (ปฏิบัติงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565) จำนวนร้อยละ 10 แต่จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ตัวอย่าง

2.1 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก หมายถึง บุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ที่เคยมารับบริการหรือมาติดต่อตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกแต่จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ตัวอย่าง

2.3 เว็บไซต์ หมายถึง เว็บไซต์หลักของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ในการสื่อสารต่อสาธารณะ


3. เครื่องมือในการประเมินและการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบไปด้วย 3 เครื่องมือ เพื่อเก็บข้อมูลจากแต่ละแหล่งข้อมูล ดังนี้

3.1 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) เป็นแบบวัดที่ให้ผู้ตอบเลือกตัวเลือกคำตอบตามการรับรู้หรือประสบการณ์ของตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลการรับรู้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน ที่มีต่อหน่วยงานตนเอง ใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ ตัวชี้วัดการใช้งบประมาณ ตัวชี้วัดการใช้อำนาจ ตัวชี้วัดการใช้ทรัพย์สินของราชการ และตัวชี้วัดการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในจะเข้ามาตอบแบบสำรวจ IIT ด้วยตนเอง ผ่าน QR Code ที่หน่วยงานเผยแพร่ ซึ่งจะเป็นการตอบเข้าสู่ระบบ ITAS โดยตรง ไม่น้อยกว่าจำนวนกลุ่มตัวอย่างขั้นต่ำตามที่กำหนด โดยน้ำหนักแบบสำรวจในกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 30

3.2 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment : EIT) เป็นแบบวัดที่ให้ผู้ตอบเลือกตัวเลือกคำตอบตามการรับรู้ของตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เป็นการประเมินระดับการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่มีต่อหน่วยงานที่ประเมิน ใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ตัวชี้วัดคุณภาพการดำเนินงาน ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการสื่อสาร และตัวชี้วัดการปรับปรุงระบบการทำงาน

โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกจะเข้ามาตอบแบบสำรวจ EIT ใน 2 วิธีการ ได้แก่  1) ด้วยตนเองผ่าน QR Code ที่หน่วยงานเผยแพร่ ซึ่งจะเป็นการตอบเข้าสู่ระบบ ITAS โดยตรง และ 2) ผู้ประเมินจะวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่สำคัญของหน่วยงาน เพื่อให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน โดยน้ำหนักแบบสำรวจในกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 30

3.3 แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) เป็นแบบวัดที่ให้หน่วยงานแสดงหลักฐานว่ามีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดต่อสาธารณชน ผ่านการระบุ URL ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานลงในระบบ ITAS โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน และทำการประเมินระดับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของหน่วยงานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากเว็บไซต์หลักของหน่วยงานใน 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ตัวชี้วัดการเปิดเผยข้อมูล (ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน การบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการส่งเสริมความโปร่งใส) และ 2) ตัวชี้วัดการป้องกันการทุจริต (ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต และมาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส) จากนั้นผู้ประเมินจะตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ OIT โดยตรวจสอบจากคำตอบและ URL ของหน่วยงาน และพิจารณาให้คะแนนโดยอ้างอิงตามความครบถ้วนขององค์ประกอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละประเด็นการประเมิน โดยน้ำหนักแบบวัดในกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 40

กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงขอเรียนเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก หมายถึง บุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่น ที่เคยมารับบริการหรือมาติดต่อตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส โดยการเข้าตอบแบบประเมินที่เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ https://itas.nacc.go.th/ แล้วค้นหา "กรมกิจการผู้สูงอายุ" หรือโดยการสแกน QR Code ที่โปสเตอร์ด้านบน โดยยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ และรหัส OTP ที่ระบบจัดส่งให้ท่าน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566