กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมกับ สวทช. สานพลังฝ่าวิกฤติสังคมผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรม หนุน “ผู้บริบาล”ติดตาม - ดูแล ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านระบบ “นิรันดร์”

กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมกับ สวทช. สานพลังฝ่าวิกฤติสังคมผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรม หนุน “ผู้บริบาล”ติดตาม - ดูแล ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านระบบ “นิรันดร์”
วันที่ 23 ก.ค. 2568 | ผู้เข้าชม 40 ครั้ง | โดย กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี

กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมกับ สวทช. สานพลังฝ่าวิกฤติสังคมผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรม หนุน “ผู้บริบาล”ติดตาม - ดูแล ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านระบบ “นิรันดร์”

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี กรมกิจการผู้สูงอายุ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม สานพลังความร่วมมือ ทางออกประเทศไทย กรณีความสำเร็จ “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แก้วิกฤติประชากร” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ (DHCB) สวทช. ร่วมให้สัมภาษณ์ในประเด็นการพัฒนานวัตกรรม หนุน “ผู้บริบาล”ติดตาม - ดูแล ผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านระบบ “นิรันดร์”

ในปี 2567 ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สวนทางกับอัตราการเกิดใหม่ของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่มีจำนวนลดลง กระทรวง พม. จึงผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นพลังทางสังคม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ผ่าน“ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” ด้วยการจัดระบบบริบาลและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สร้างผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ  ทำหน้าที่ดุจลูกหลานของคนในชุมชน เพื่อปกป้อง คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ช่วยเหลือดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี และผสานความร่วมมืองานทางด้านการ “พัฒนาสังคม” ของ กระทรวง พม. และ “นวัตกรรมเทคโนโลยี” ของ สวทช. เข้าด้วยกัน เป็นโมเดลการแก้ปัญหาสังคมแบบใหม่ ไม่ใช่การทำงานแบบแยกส่วน แต่เป็นการบูรณาการความร่วมมือและสานพลังของทุกภาคส่วนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยการใช้นวัตกรรมจากระบบนิรันดร์ ของ สวทช. เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับโครงการบริบาลฯ ในการขับเคลื่อนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ “Nirun for community” หรือเรียกว่า ระบบ “นิรันดร์” ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ ออกแบบมาเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ และใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานของ “ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ” โดยระบบนิรันดร์ช่วยสนับสนุนการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันของผู้บริบาลฯ สะดวก รวดเร็วในการบันทึกข้อมูล และยังช่วยติดตามผลการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะรายในพื้นที่อย่าง Real Time ช่วยบันทึกข้อมูลประวัติส่วนบุคคลเบื้องต้น สภาพปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ การประเมินผลครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ และวิเคราะห์กิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้ ช่วยทำให้ผู้บริบาลฯ มีข้อมูล พิกัดของพื้นที่ของผู้สูงอายุที่ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการค้นหาและการเดินทางเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทันท่วงทีสามารถนำข้อมูลภาพรวมของสภาพปัญหาและการดูแลผู้สูงอายุมาวิเคราะห์วางแผนการดูแลผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

 จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและสังเกตุการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริบาลฯ ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองกระเสียว ในด้านต่างๆ พร้อมสาธิตการเล่นเกม “ขนมมงคล“ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาระบบสมอง และส่งเสริมทักษะทางความคิด ด้านความจําสำหรับผู้สูงอายุเป็นหลักช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และช่วยฝึกความทรงจำ เสริมพัฒนาการทางด้านสมองและกล้ามเนื้อมือ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเกมขนมมงคล สนับสนุนให้ผู้บริบาลฯ นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่และชมรมผู้สูงอายุ