นวัตกรรมสุดล้ำช่วยให้มีชีวิตสูงวัยแบบไม่ต้องยอมแก่

นวัตกรรมสุดล้ำช่วยให้มีชีวิตสูงวัยแบบไม่ต้องยอมแก่
วันที่ 18 ม.ค. 2564 | ผู้เข้าชม 3,845 ครั้ง | โดย กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (ทนส.กยผ.)

นวัตกรรมสุดล้ำช่วยให้มีชีวิตสูงวัยแบบไม่ต้องยอมแก่

ในขณะบางคนมองผู้สูงอายุเป็นภาระ แต่มีคนไม่น้อยพร้อมมองพวกเขาเป็น ‘แรงบันดาลใจแห่งนวัตกรรม’

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นของคู่กัน แต่คงไม่มีใครยอมให้ตัวเองแก่ไปแบบเจ็บๆ เพราะ การมีชีวิตสูงวัยไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทนทุกข์ทรมานเสียหน่อย มันจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องวางแผนเตรียมตัวเสียก่อนเนิ่นๆ

ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 10ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราการเกิดของคนไทยลดลงอย่างมากจากสถานภาพทางเศรษฐกิจฝืดเคือง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่คุมกำเนิดมากขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์สังคมสูงอายุอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเราไม่ได้มองพวกเขาเป็นภาระอีกต่อไป แต่เป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยให้แคบลง ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่สูญเสียศักยภาพ ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ และที่สำคัญเมื่อถึงวันหนึ่งพวกเราก็อาจจำเป็นจะได้ใช้บ้างแน่นอน

เรามาสำรวจกันว่ามีนวัตกรรมอะไรบ้างที่จะเข้ามาเปลี่ยนบทบาทเหล่านี้ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งละอันพันละน้อยใกล้ตัว รอคอยเพียงนักนวัตกรรมรุ่นใหม่มาสังเกต หยิบจับจนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำให้ชีวิตผู้สูงอายุง่ายขึ้น จนอาจลืมความชราภาพไปเลยก็ได้

 

Liftware ช้อนสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ทำให้ทุกกิจกรรมที่แม้จะธรรมดาที่สุดอย่างการตักอาหารเข้าปาก กลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเกินความจำเป็น  ผู้สูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสันมักมีอาการสั่นของแขนขาจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จากระบบประสาทส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวบกพร่อง เพียงแค่กินอาหารเองยังยากจึงต้องคอยมีคนช่วยเหลือป้อนอาหารให้อยู่เสมอ

นวัตกรรมช้อนฉลาด Lifeware จึงมาตอบโจทย์ได้อย่างน่าสนใจ โดยช้อนมีระบบตรวจจับการสั่นไหวของมือผู้ถือทั้งทิศทางและน้ำหนัก จากนั้นตัวช้อนจะควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งที่สุด ลดความสั่นไหวลงถึง 85% ทำให้ผู้สูงอายุตักอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายออกแบบช้อนสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น นับเป็นการใส่ใจรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อยอย่างการกินอาหาร แต่ยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เพราะใครๆก็อยากอร่อยกับอาหารมื้อโปรดด้วยตัวเองทั้งนั้น

 

Easypill – กล่องยาเตือนความจำ

ความทรงจำที่ไม่แม่นยำเหมือนแต่ก่อน ทำให้ผู้สูงอายุมักหลงลืมที่จะรับประทานยาตามแพทย์สั่งหรือทานยาปะปนกัน หากไม่ต้องการให้ใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องทานยา อาจชอบใจนวัตกรรมทางการแพทย์ในบ้านอย่าง EasyPill ที่มาพร้อมกับชุดแพดเชื่อมต่อข้อมูลกับ Application ในโทรศัพท์มือถือที่แพทย์สามารถป้อนคำสั่งปริมาณการใช้ยาหรือเวลาในการรับประทานผ่าน App ได้ง่ายๆ ซึ่งคนในครอบครัวสามารถทราบว่า ผู้สูงอายุในบ้านรับประทานยาไปแล้วหรือยัง นวัตกรรมนี้ทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตตามลำพังมากขึ้น และจะรับยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดในเวลาเดียวกัน

Easypill หยิบประเด็นที่ง่ายที่สุดอย่างการกินยาของผู้สูงอายุ ที่มักสร้างความกังวลให้กับลูกหลาน บวกกับการเขียน Application ที่เชื่อมตรงระหว่าง แพทย์ ผู้สูงอายุ และสมาชิกในบ้านให้อยู่ในวงจรเดียวกันคอยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

 

StairSteady ทางเลือกที่ย่อมเยาสำหรับขึ้นชั้นบน

ผู้สูงอายุที่มีฐานะและอาศัยในบ้านมากกว่าหนึ่งชั้นขึ้นไป อาจจะต้องลงทุนติดตั้งเก้าอี้เลื่อนไฟฟ้าหรือลิฟต์ในบ้านเพื่อสะดวกในการขึ้นหรือลงระหว่างชั้น แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่ส่วนใหญ่ราคาแพง ใช้พื้นที่ในการติดตั้งมาก ดังนั้นครอบครัวมีทุนทรัพย์น้อยอาจเอื้อมไม่ถึง ทำให้การขึ้นบันไดเพียงไม่กี่ขั้นก็อาจทรหดเหมือนไต่เขาอันสูงชัน

StairSteady เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของหญิงสาวชาวอังกฤษ Ruth Amos ขณะที่เธอมีอายุเพียง 19 ปี โดยแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด ลดทอนเก้าอี้ขนาดใหญ่ให้เหลือเพียงด้ามจับเพียงชิ้นเดียว เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ยังพอมีแรงเดินขึ้นบันไดได้ แต่ต้องการหลักที่มั่นคงในการช่วยพยุง  ด้ามจับมีกลไกที่ติดตั้งเข้ากับผนังด้านข้าง เมื่อมีแรงกด ด้ามจับจะเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงอย่างช้าๆ ช่วยประคองผู้สูงอายุโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าหรือแหล่งพลังงานใดๆเลย

การออกแบบของบ้านยุคใหม่ต้องคำนึงถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยจะห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ไม่ว่าจะห้องไหนๆบ้านก็ต้องเข้าใจลักษณะของผู้อาศัยด้วย

 

Smart Cane – ไม้เท้าบอกทิศกลับบ้าน

ไม้เท้าดีๆสักอันอาจทำอะไรได้มากกว่าค้ำยันพื้น เพราะไม้เท้าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้สูงอายุมากที่สุด มันก็ควรเข้าใจผู้สูงอายุมากที่สุดเช่นกัน บริษัทเทคโนโลยี Fujitsu ออกแบบไม้เท้าอัจฉริยะ ที่สามารถนำทางผู้สูงอายุกลับบ้านได้เอง โดยมีจอ LED คอยบอกทิศทางที่ถูกต้อง และสามารถตรวจวัดระดับการเต้นชีพจรและอุณหภูมิของร่างกายได้แม่นยำ

ซึ่งตัวไม้เท้าเองจะระบุตำแหน่งบนแผนที่ เพื่อให้สมาชิกรับรู้ว่าผู้สูงอายุกำลังเดินอยู่ที่ไหน และตั้งค่าได้ว่า หากผู้สูงอายุหกล้ม ไม้เท้าจะส่งข้อความเตือนสมาชิกในบ้านให้ทราบพร้อมๆกัน โดยไม้เท้าเองเชื่อมเครือข่ายร่วมกับโทรศัพท์มือถือกับสถานบริการพยาบาลในละแวกนั้นๆอีกด้วย อย่าลืมว่าความจำที่ดีและร่างกายที่แข็งแรงจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าของที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆตลอดทุกช่วงวัยอยู่เสมอ

Scooter for Life – สกู๊ตเตอร์ที่อยู่กับคุณชั่วชีวิต

สิ่งของบางชิ้นอยู่กับคุณเพียงประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ ก็ต้องถูกโละทิ้งไปเป็นของเก่า แต่หากจะมีสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถใช้ได้ชั่วชีวิต และสามารถให้คนในครอบครัวร่วมกันใช้ได้โดยไม่ต้องขวยเขิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในแต่ละครอบครัว จึงเป็นที่มาของสกู๊ตเตอร์อเนกประสงค์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนและทุกวัย

ผู้สูงอายุจำเป็นต้องออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่ต้องปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บได้ในระดับหนึ่ง Scooter for Life จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดิน หรือการช่วยหิ้วข้าวของหากผู้สูงอายุจำเป็นต้องจ่ายตลาด ด้วยแนวคิด ‘New Old’ งานออกแบบวินเทจที่ดูร่วมสมัยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุขยับบ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

นอกจากนั้นมันยังสามารถจดจำตำแหน่งของบ้านผู้ใช้ ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีภาวะหลงลืม (Dementia) สกู๊ตเตอร์จะสามารถนำทางกลับสู่บ้านได้เช่นกัน ลักษณะทางกายภาพของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามอายุขัย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองข้ามการออกกำลังกายอย่างสิ้นเชิง

มองกลับมาที่ประเทศไทย สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในประเทศไทยถึง 10 ล้านคนหรือคิดเป็น 16% ของ ประชากร ทั้งหมดและภายในปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 20% ของประชากรไทยทั้งหมด

นิทรรศการออนไลน์ “เตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย” จึงถูกจัดขึ้น เพื่อให้แนวทางสำหรับวัยทำงานสามารถเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพในสังคมได้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้วัยเด็กได้เรียนรู้และเข้าใจผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น ลบทัศนคติเชิงลบของคนรุ่นใหม่ที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยแห่งความเสื่อมถอยและเป็นภาระของครอบครัว 

กับคำถามที่ว่า “เราจะแก่ไปเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขได้อย่างไร” ในนิทรรศการมีคำตอบให้คุณแล้ว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้ที่ thaihealthcenter

อ้างอิง

https://stairsteady.net/

https://www.liftware.com/

http://www.priestmangoode.com/project/scooter-for-life/

http://www.tuvie.com/easy-pill-medical-system-for-elderly-people/

https://www.fujitsu.com/global/documents/about/resources/publications/fstj/archives/vol51-4/paper13.pdf